Ban Nathum Sweet Bamboo หน่อไม้บงหวานบ้านนาทุ่ม ตอน วิธีการปลูกไผ่หวานให้ได้หน่อไม้บงหวาน

ไม่น่าเชื่อว่าพืชพรรณท้องถิ่น อย่าง "หน่อไม้บงหวาน" หรือ "ไผ่บงหวาน" จะสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ สำหรับผู้สนใจทำอย่างจริงๆ เป็นเพราะสาเหตุอะไร วันนี้ จะพาไปหาคำตอบกันค่ะ

วิธีการปลูกไผ่หวานให้ได้หน่อไม้บงหวาน เหมือนจะเป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับใครๆหลายๆคนที่เพาะปลูกกันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่เรามีเคล็บลับในการเพาะปลูกไผ่บงหวานให้ได้หน่อไม้บงหวาน ดังนี้

1. สายพันธุ์ไผ่บงหวาน หมู่บ้านนาทุ่มและหมู่บ้านใกล้เคียงบริเวณอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีสายพันธุ์ไผ่บงหวานที่เป็นพรรณท้องถิ่นแท้ มีเอกลักษณ์ และมีประวัติความเป็นมาช้านาน ด้วยพื้นที่ของหมู่บ้าน มีแม่น้ำไหลผ่าน และนิยมเพาะปลูกริมแม่น้ำ ซึ่งฤดูน้ำหลาก จะมีน้ำท่วมถึง ตามลักษณะการวางผังเมืองโบราณ ผู้คนจะอาศัยอยู่ตามร่องรอยแม่น้ำ เพื่อให้สามารถเพาะปลูกได้ การเลือกปลูกไผ่ เป็นทั้งพืชยึดหน้าดิน และกันลม ได้เป็นอย่างดี ด้วยสายพันธุ์ท้องถิ่นนี้ มีความแข็งแรง ทนโรค สามารถแพร่กระจายในพื้นที่ของอำเภอด่านซ้ายได้เป็นอย่างดี การคัดเลือกพันธุ์ จึงมีความสำคัญมาก เพราะเลือกต้นที่อ่อนแอ กอไผ่ไม่หนา การนำไปเพาะปลูกต่อ จะไม่ได้ผลและกลายพันธุ์ จากที่เคยหวาน อาจจะฝาดเฝื่อน เป็นต้น 

เมล็ดพันธุ์ไผ่บงหวานที่ร่วงหล่นตามพื้นดิน
 2. ลักษณะที่ดินเหมาะสม หน่อไม้บงหวานของหมู่บ้านนาทุ่ม จะนิยมเพาะปลูกบนดินร่วนปนดินทราย หลักๆเลยเพราะติดริมแม่น้ำพาน ซึ่งหากบางปีน้ำท่วมถึง จะพัดพาเอาทรายและสารอาหารที่อยู่ในดินมาผสมกัน กลายเป็นสารอาหารพืชชั้นดีที่ได้จากธรรมชาติ โดยที่ไม่ต้องพึงพาสารเคมีใดๆ ทำให้ได้หน่อไม้ที่มีรสชาติหวาน เนื้อกรอบตามธรรมชาติ


ต้นไผ่บงหวานอายุ 5 ปี ริมน้ำพานบ้านนาทุ่ม

3. การบำรุงรักษา ไผ่บงหวานที่นำไปเพาะปลูกขยายพันธุ์เพิ่มนั้น ช่วงแรกต้องมีการเตรียมดิน และให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ หากเมื่อเริ่มติดรากและแตกใบเยอะแล้ว สามารถพักการให้น้ำได้ โดยสามารถให้น้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แล้วแต่สภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ เมื่อต้นไผ่เริ่มเจริญเติบโต แตกหน่อเป็นพุ่มแล้ว ควรหมั่นดูแลรักษาความสะอาดบริเวณโคนต้น อาจจะหาหญ้าหรือใบไผ่ที่ร่วงหล่นบริเวณนั้นๆกองทับถมกันไว้ใต้โคน ให้ย่อยสบายกลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติอย่างหนึ่ง หากต้องการให้ปุ๋ย ควรเป็นปุ๋ยคอก เช่น มูลวัว มูลควาย ผสมกับใบไผ่คลุกเคล้าให้เข้ากันและใส่วางตามโคนไผ่ ก่อนรดน้ำให้ความชุ่มชื้นในดิน อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

4. การขยายพันธุ์ มี 4 วิธีคือ


  1. การเพาะจากเมล็ดไผ่บงหวาน เพาะในถุงเพาะชำ โดยโรยต้นเดี่ยว หรือ คู่ เช่น ใช้เพาะถุงละ 1-3 เมล็ด โดยที่โตแล้วไม่ต้องแยกหน่ออีกครั้ง
  2. การเพาะจากเมล็ดไผ่บงหวาน เพาะในถุงเพาะชำ โดยโรยหลายเมล็ด ประมาณ 7-10 เมล็ด เมื่อเริ่มแตกหลายต้น หลังจากเพาะเลี้ยงได้ 1 เดือน สามารถแยกถุงได้ 3-5 ถุง แล้วแต่ความสมบูรณ์ของลำต้นไผ่อ่อน วิธีนี้หมายรวมไปถึงการเก็บเมล็ดพันธุ์ต้นไผ่บงหวานที่ร่วงหล่นใต้กอไผ่ เกิดเป็นต้นอ่อน แล้วแซะเอามาใส่ถุงเพาะปลูกได้อีกด้วย 2 วิธีแรกจะให้ผลผลิตในปีที่ 3 เป็นต้นไป
  3. การแยกหน่อ สามารถแยกหน่อจากกอไผ่ได้เลย โดยเลือกจากลำไผ่ที่โตแล้วประมาณ 2 ปีขึ้นไป คัดจากสีของลำไผ่ ให้มีสีเขียวสด ขนาดพอดี ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป ความยาวเส้นรอบวงประมาณ 10 เซนติเมตร แยกหน่อจากกอไผ่ ติดราก ตัดใบออก ให้เหลือใบเล็กน้อยพร้อมข้อปล้องที่สมบูรณ์ นำไปใส่ถุงดำขนาดใหญ่เพาะเลี้ยงตามปกติ รดน้ำในระยะ 2 สัปดาห์แรก วิธีนี้จะให้ผลผลิตในระยะเวลา 1.5 - 2 ปี
  4. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นการใช้วิทยาศาสตร์กับการเกษตรก้าวหน้า พัฒนาโดยเน้นเพาะปลูกเพื่อการอุตสาหกรรม เป็นการควบคุมสายพันธุ์ให้คงที่และได้ผลผลิตมาก ซึ่งวิธีนี้ ชาวบ้านนาทุ่มไม่ได้ใช้ค่ะ
ดอกไผ่บงหวาน สวนพ่อแอ๊ดเกษตรอินทรีย์ บ้านนาทุ่ม
 5. ปุ๋ย การให้ปุ๋ยกับต้นไผ่บงหวาน เราเน้นทำเกษตรอินทรีย์ จึงไม่พึ่งพาการใช้สารเคมี ปุ๋ยที่ดินที่สุดคือ ปุ๋ยที่หมักจากจุลินทรีย์ใต้ต้นไผ่ ผสมกับปุ๋ยคอก และดินใต้ต้นไผ่นั่นเอง โดยมิวิธีการทำง่ายๆ ดังนี้
  1. นำดินใต้ต้นไผ่มีมีจุลินทรีย์ (ราสีขาว มีใยและความชื้น) ปริมาณ 3 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน กากน้ำตาล หรือ น้ำตาลทรายแดง 1 ส่วน ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ใช้ผ้าคลุมทิ้งไว้ 21 วัน
  2. สามารถนำไปใช้ได้ตามปกติ โดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษและผลเสียกับสภาพแวดล้อม
6. ฤดูกาลเพาะปลูกที่เหมาะสม เป็นช่วงฤดูฝน คือ มิ.ย. - ก.ย. เพราะต้นไผ่ ชอบความชุ่มชื้น แต่ทั้งนี้ชาวบ้านนาทุ่ม สามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี เพราะมีปริมาณน้ำที่ใช้อย่างเพียงพอ  

7.วิธีการปลูก  หากนำกล้าพันธุ์ไผ่บงหวานจากหมู่บ้านนาทุ่มไปเพาะปลูก ต้องเตรียมดินให้เหมาะสม และดูแลแย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการกลายพันธุ์
  1. เตรียมดินให้พร้อมโดยการผสมอินทรีย์วัตถุหมักดินทิ้งไว้ 1 เดือนเป็นอย่างน้อย
  2. ขุดหลุมขนาด (กว้าง x ยาว x ลึก) 30 เซนติเมตร หรือ 1 ไม้บรรทัด ระยะห่างระหว่างต้น 2 x 2 เมตร หรือ 3 x 3 เมตร แล้วแต่ความสะดวกของเจ้าของพื้นที่
  3. เตรียมดินที่หมักไว้ ผสมอินทรียวัตถุอื่นๆ เช่น แกลบ และผิวหน้าดินปริมาณนั้นๆ รองก้นหลุม 
  4. ค่อยๆฉีกถุงเพาะชำเอาต้นกล้าไผ่บงหวานวางกึ่งกลางหลุม กลบด้วยดินให้แน่น
  5. ใช้ฟางคลุมดินป้องกันหน้าดินแห้ง
  6. รดน้ำให้ความชุ่มชื่นกับดิน 
กอไผ่ของหน่อไม้บงหวานบ้านนาทุ่มที่มีอายุกว่า 20 ปี

8. ความรักและความเอาใจใส่ ข้อนี้สำคัญมาก การจะทำอะไร หากขาดความรัก ความเอาใจใส่ต่องานนั้นๆ ย่อมจะไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น การทำเกษตร เช่น การเพาะเลี้ยงไผ่บงหวาน หากมีความรักต่อสิ่งที่ทำ สิ่งนั้นย่อมสร้างมูลค่าได้ตามความเหมาะสม

ไผ่บงหวาน และหน่อไม้บงหวานบ้านนาทุ่ม สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้เดือนละ 50,000 - 100,000 บาท ต่อครัวเรือนในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตคือช่วงหน้าฤดูฝน สำหรับชาวบ้านที่เพาะปลูกปริมาณน้อย รายได้เฉลี่ยประมาณมากกว่า 10,000 บาทต่อครัวเรือน ทั้งนี้ อาชีพหลักของคนในหมู่บ้านคือทำเกษตรกรรม ทำไร่ข้าว สวนผลไม้ ไร่ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ ส่วนการเพาะเลี้ยงไผ่บงหวานเป็นเพียงอาชีพเสริมเท่านั้น


-----------------------
เรียบเรียงโดย : Sweetie I
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านนาทุ่ม หมู่ 11
ต.ด่านซ้าย
อ.ด่านซ้าย
จ.เลย 42120
โทร : 042891765, 0892755534, 0985896912

------------------------
หมายเหตุ : ภาพมีลิขสิทธิ์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Ban Nathum Sweet Bamboo หน่อไม้บงหวานบ้านนาทุ่ม ตอน วิธีการเพาะเมล็ดพันธุ์ ไผ่บงหวานบ้านนาทุ่ม ฉบับออริจินอล

Ban Nathum Sweet Bamboo หน่อไม้บงหวานบ้านนาทุ่ม ตอน คลิปถ่ายทำรายการหน่อไม้บงหวาน หมู่บ้านนาทุ่ม

สวนไผ่บงหวานแท้สายพันธุ์ดั้งเดิมบ้านนาทุ่ม หวานธรรมชาติ กรุบกรอบไม่มีสารไซยาไนด์